จีเอสพี (GSP)นั้นคืออะไร?

Monday 2 March 2009

คอลัมน์ คลื่นความคิด สกล หาญสุทธิวารินทร์ มติชนรายวัน วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9804

ในช่วงนี้มีข่าวรัฐบาลไทยกำลังขอให้สหภาพยุโรปคืนสิทธิจีเอสพีให้แก่สินค้ากุ้งไทยที่ส่งไปสหภาพยุโรป คำถามที่ได้รับบ่อยๆ จากผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับวงการส่งออกคือ จีเอสพีนั้นคืออะไร จึงขอทำตัวเป็นผู้ใหญ่ลีตอบว่า จีเอสพีนั้นไซร้เป็นดังนี้

1.ความเป็นมาของโครงการจีเอสพี

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในการประชุมองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการค้าและพัฒนา (UNCTAD) สมัยที่ 1 ในปี พ.ศ.2507 จึงเกิดแนวความคิดเกี่ยวกับระบบจีเอสพีขึ้น โดยมีความมุ่งหมายที่จะยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ให้มีรายได้จากการค้า แทนการรับในรูปแบบของเงินช่วยเหลือ (AID) ด้วยการให้สินค้าส่งออกของประเทศกำลังพัฒนา สามารถแข่งขันกับสินค้าของประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ในการประชุม UNCTAD ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2511 ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ตกลงให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการส่งออกด้วยการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Generalized System of Preferences : GSP โดยการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าให้กับสินค้าที่ส่งมาจากประเทศที่กำลังพัฒนา

2.ประเทศที่ให้สิทธิจีเอสพี

ประเทศที่เข้าร่วมโครงการให้สิทธิจีเอสพี ณ ปัจจุบัน มี 8 ประเทศ และสหภาพยุโรป

3.ประเทศที่ได้รับสิทธิ

เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา โดยสหภาพยุโรปให้สิทธิจีเอสพีแก่ประเทศและดินแดนอาณานิคม ประมาณ 174 ประเทศ รวมทั้งประเทศที่แตกสลายจากสหภาพโซเวียตด้วย

สหรัฐ อเมริกาให้สิทธิจีเอสพีแก่ประเทศและดินแดนอาณานิคมประมาณ 145 ประเทศ โดยสหรัฐอเมริกาจะไม่ให้สิทธิแก่ประเทศที่ไม่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และประเทศที่เป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(OPEC)

ญี่ปุ่นให้สิทธิจีเอสพีแก่ประเทศประมาณ 155 ประเทศ

สำหรับประเทศไทยได้รับสิทธิจากทุกประเทศที่ให้สิทธิจีเอสพี

4.ประโยชน์ของการได้รับสิทธิจีเอสพี

สินค้าที่ได้รับสิทธิ เมื่อส่งไปประเทศที่ให้สิทธิ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า หรือได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้า คือเสียภาษีน้อยลงจากอัตราปกติ ทำให้ต้นทุนการนำเข้าถูกลง ผู้นำเข้าสามารถตั้งราคาขายให้ถูกลง จูงใจให้ผู้ซื้อซื้อมากขึ้น ผู้นำเข้าก็จะสั่งซื้อสินค้านั้นจากประเทศส่งออกต่อไปหรือซื้อมากขึ้น เปรียบเทียบให้เห็นได้จากหลายท่านที่ชอบไปช็อปปิ้งแถวหาดใหญ่ จังโหลน ปาดังเบซาร์ โดยเห็นว่าเป็นสินค้าที่มีราคาถูกกว่าที่อื่น เพราะไม่เสียภาษี

กรณีของสินค้ากุ้งไทยที่ส่งไปยังสหภาพยุโรปก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นกุ้งแช่เย็นแช่แข็งอัตราภาษีปกติ 12% แต่ถ้าได้รับสิทธิจีเอสพีจะเสียภาษีเพียง 4.2% ส่วนกุ้งปรุงแต่ง อัตราภาษีปกติ 20% อัตราภาษีที่ได้จีเอสพีเสียเพียง 7% จะเห็นได้ว่ามีผลต่อต้นทุนการนำเข้ากุ้งจากไทยมาก

5.การตัดหรือระงับสิทธิจีเอสพี

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่มีเงื่อนไขในการตัดสิทธิจีเอสพี และมีกลไกในการระงับสิทธิจีเอสพี เงื่อนไขการพิจารณาให้สิทธิจีเอสพีของสหรัฐอเมริกามีหลายประการที่สำคัญ ได้แก่

-การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายของสหรัฐอเมริกากำหนดให้ประเทศที่ได้รับสิทธิจีเอสพีของสหรัฐอเมริกา ต้องให้การปกป้องคุ้มครองในเรื่องลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าให้กับสินค้าของสหรัฐอเมริกาอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ

-ประเทศที่ได้รับสิทธิจีเอสพีต้องคุ้มครองสิทธิแรงงานภายในประเทศในระดับที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

-การให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านผู้ก่อการร้าย

หากประเทศใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวก็อาจถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิจีเอสพีได้

นอกจากเงื่อนไขการให้สิทธิจีเอสพีดังกล่าวแล้ว สหรัฐอเมริกายังได้วางกฎในการระงับสิทธิจีเอสพีไว้ด้วย กฎที่ว่าคือกฎว่าด้วยความจำเป็นในการแข่งขัน สรุปได้คือ หากสินค้ารายการใดจากประเทศใด ส่งไปสหรัฐอเมริกามีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าตั้งแต่ 50% ขึ้นไป หรือสินค้านั้นมีมูลค่าการนำเข้าสูงเกินระดับเพดานที่สหรัฐอเมริกากำหนดในแต่ละปี(เพิ่มขึ้นปีละ 5 ล้านเหรียญ) สินค้านั้นจะถูกระงับสิทธิในปีปฏิทินถัดไป

สินค้าที่ถูกระงับสิทธิไปแล้ว อาจได้สิทธิกลับคืนมาถ้าปรากฏว่ามูลค่าการนำเข้าในปีถัดไปต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หรือดำเนินการขอสิทธิคืน หลักเกณฑ์ที่สหรัฐอเมริกากำหนดไว้ การจะได้สิทธิคืนหรือไม่เป็นอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐเท่านั้น

ผู้ให้สิทธิจีเอสพีรายต่อมาที่มีการกำหนดเงื่อนไขในการให้สิทธิและการระงับสิทธิจีเอสพีคือสหภาพยุโรป โดยมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อครั้งต่ออายุโครงการที่ 3 ช่วงปี 2538 ถึงปี 2547 หลายประการที่สำคัญคือ จากเดิมที่มีการกำหนดการให้สิทธิตามเพดานหรือตามโควต้าก็เปลี่ยนเป็นการพิจารณาตามความอ่อนไหวของสินค้า ซึ่งมีหลักเกณฑ์วิธีการ ตลอดจนการคำนวณมูลค่าการนำเข้าค่อนข้างซับซ้อน

ผลจากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ทำให้สินค้าไทยถูกสหภาพยุโรประงับสิทธิจีเอสพีหลายรายการที่สำคัญ สินค้ากุ้งที่เป็นประเด็นอยู่ในปัจจุบัน

โครงการจีเอสพีของสหภาพยุโรปที่มีการต่ออายุไปอีกตั้งแต่ปี 2548 ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่า แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้บังคับ

6.จะรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงระบบสิทธิจีเอสพีอย่างไรดี

สิทธิจีเอสพีใช่ว่าจะมีแต่ประโยชน์ จีเอสพีก็มีโทษเช่นเดียวกัน โทษที่เห็นได้ชัดคือ ถ้าประเทศเราถูกตัดสิทธิจีเอสพี แต่ประเทศคู่แข่งที่ส่งออกสินค้าชนิดเดียวกันไม่ถูกตัดสิทธิ จะทำให้เราเสียเปรียบ ฉะนั้น ถ้าจะตัดสิทธิก็ให้ตัดสิทธิให้หมดทุกประเทศไปเลยก็จะไม่ว่ากัน

โครงการจีเอสพีมีอนาคตไม่แน่นอน ไม่แน่ว่าประเทศผู้ให้สิทธิจะยุติโครงการเมื่อใด หรือจะมีการกำหนดเงื่อนไข กฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมาระงับสิทธิ เป็นการบีบประเทศผู้ส่งออกเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมาเราก็ถูกบางประเทศใช้จีเอสพีบีบ

หากยังได้สิทธิจีเอสพีต่อไปก็คงต้องเตรียมรับสถานการณ์รับเงื่อนไขต่างๆ ที่อาจเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันคงต้องพูดแบบกำปั้นทุบดินว่า เราคงต้องเตรียมรับสถานการณ์ลดต้นทุนการส่งออกอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ชดเชยกับสิทธิจีเอสพีที่อาจถูกตัดไป และต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานของสินค้า เพราะจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะจูงใจให้ผู้นำเข้ายังคงซื้อสินค้าไทย ถึงแม้จะแพงกว่าสินค้าของประเทศคู่แข่งอยู่บ้าง ขณะเดียวกันสินค้ารายการใดที่ถูกตัดจีเอสพีเพราะส่วนแบ่งการตลาดสูง ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกที่ส่งสินค้านั้นออกไป ก็ให้ภูมิใจได้ว่ามีส่วนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงไม่ได้รับสิทธิจีเอสพี เพราะสิทธิจีเอสพีนั้นไซร้ มีไว้ให้กับเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนานั่นเอง

0 comments:

Post a Comment