ข้อห้ามการใช้สาร Dimethyl fumarate (DMF) ในผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในอียู

Saturday 7 March 2009

อห้ามการใช้สาร Dimethyl fumarate (DMF) ในผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในอียู


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์รายงานว่า Health and Consumers Directorate-General (DG SANCO) ได้มีหนังสือแจ้งเรื่องร่างข้อตัดสินใจของคณะกรรมาธิการยุโรปเรื่องการห้ามการใช้สารประเภท Dimethyl Fumarate (DMF) ในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคในอียู สรุปได้ ดังนี้


1. สืบเนื่องจากกรณีอาการแพ้ในผู้บริโภคที่เกิดจากการใช้สาร DMF ในผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และ

รองเท้าหลายกรณีในประเทศสมาชิกอียู ดังนั้น เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552 ประเทศสมาชิกอียูจึงได้เห็นชอบร่างข้อตัดสินใจของคณะกรรมาธิการยุโรป (Comission Decision) ภายใต้ระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยสินค้า (General Product Safety Directive 2001/95/EC) ห้ามใช้สาร DMF ในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค (consumer products) เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีทางออกที่ถาวรภายใต้ระเบียบ REACH เนื่องจากต้องใช้เวลาในการห้าม การจำกัดการใช้สารเคมีอันตรายตามระเบียบดังกล่าวมากเกินไป โดยมีเหตุผลในการพิจารณาเรื่องนี้ว่า


-สาร DMF ที่อยู่ใน consumer products ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค

เนื่องจากมีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดอาการแพ้รุนแรง


-ประเทศสมาชิกอียูบางประเทศ อาทิ เบลเยี่ยม สเปน ฝรั่งเศส มีกฎหมายภายในเพื่อ

ป้องกันความเสี่ยงจากสารนี้แล้ว


-ยังไม่มีการอนุญาตการวางจำหน่าย biocidal products (สารเคมีที่มีผลกระทบอันตราย

ต่อสิ่งมีชีวิต) ที่มีสาร DMF เป็นส่วนประกอบภายในอียู ดังนั้นจึงไม่ควรใช้สาร DMF ในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในอียูทั้งหมด ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในอียูรวมทั้งที่นำเข้าในอียูจึงไม่ควรมีสาร DMF ด้วย (อียูมีระเบียบเกี่ยวกับ biocidal products ตาม Directive 98/8/EC concerning the placing of biocidal products on the market เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2541 และได้ประกาศใช้ภายในประเทศสมาชิกอียูเมื่อ 14 พฤษภาคม 2543)

- ระดับสูงสุดของสาร DMF ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ต้องไม่เกิน 0.1 mg/kg

- นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นไป สมาชิกอียูจะต้องรับรองว่าผลิตภัณฑ์ที่

จำหน่ายในอียูไม่มีสาร DMF เป็นส่วนประกอบ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายแล้วจะต้องถูกเก็บคืนออกจากตลาดหรือเรียกคืนจากผู้บริโภค


2. ร่าง Decision นี้จะต้องผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมาธิการยุโรปต่อไป


3. สาร DMF เป็นสารเคมีที่ป้องกันเชื้อราที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลิตภัณฑ์หนังหรือสิ่งทอ

ในช่วงการเก็บรักษาหรือการขนส่งในสภาพอากาศชื้น โดยการตรวจพบที่ผ่านมาพบว่าการใช้สาร DMF ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคเป็นสินค้าจากจีนและมาเลเซีย


ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฏระเบียบและมาตราการต่างๆ ของอียูได้ที่ http://news.thaieurope.net/

รายละเอียดการต่ออายุระบบการให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) ของสหรัฐอเมริกา


รายละเอียดการต่ออายุระบบการให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) ของสหรัฐอเมริกา

1. กฎหมาย GSP ฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2550 – 31 ธันวาคม 2551 และสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ให้ต่ออายุการให้สิทธิ GSP ออกไปอีก 1 ปี โดยให้หมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อนที่จะประกาศเป็นกฎหมาย ต่อไป ซึ่งขณะนี้ Finance Committee ของวุฒิสภาสหรัฐฯ กำลังพิจารณาแนวทางดังกล่าวอยู่


2. มีการแจ้งจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative : USTR) ว่าขณะนี้มีแนวโน้มว่าสินค้าบางรายการของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ภายใต้สิทธิพิเศษ GSP อาจมีมูลค่าเกินเพดาน Competitive Need Limitation (CNL) ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการขอยกเว้นการบังคับใช้ CNL ในสินค้าดังกล่าว จึงขอให้ผู้ส่งออกติดตามระดับและมูลค่าการส่งออกได้ที่
http://www.usitc.gov/

ความสำคัญของภาคการส่งออก(Important of Export)

Monday 2 March 2009

ธุรกิจภาคการส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวที่สูงและรวดเร็วมาก ซึ่งเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่ผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศมีอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับสูง นับว่าเป็นธุรกิจอีกแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญต่อผู้ประกอบการเองและประเทศชาติ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สามารถนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทยเราเป็นจำนวนมากในปีหนึ่ง ๆ และรายได้เหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกนำมาใช้พัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจการส่งสินค้าออกของไทยประสบความสำเร็จ และมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาในธุรกิจนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ขั้นตอนและกระบวนการปฏิบัติต่าง ๆ ในการส่งออกสินค้าให้ดีเสียก่อน

เนื่องจากขั้นตอนการส่งออกสินค้า เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกจะต้องทำความเข้าใจและศึกษาข้อปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อให้การประกอบธุรกิจส่งออกเป็นไปอย่างสะดวกและได้รับผลสำเร็จคุ้มค่ากับความตั้งใจในการลงทุน

ความสำคัญของภาคการส่งออกสามารถแบ่งได้ดังนี้

1. ผลักดันในด้านการขยายการลงทุน และสร้างความต้องการแรงงาน
การส่งออกที่ขยายตัวขึ้นย่อมทำให้ผู้ผลิตต้องขยายการผลิตหรือมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และโดยส่วนใหญ่แล้วระบบการผลิตของไทยก็เป็นระบบการผลิตที่ใช้แรงงานในสัดส่วนที่มากกว่าเครื่องจักร (Labour Intensive) ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยในการสร้างความต้องการแรงงานให้แก่ประเทศที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีผลต่อการช่วยยกระดับรายได้ของแรงงานด้วยอีกส่วนหนึ่ง

2. ช่วยในการนำเข้าเงินตราต่างประเทศ

ช่วยในด้านการลดการขาดดุลการค้า และดุลการชำระเงิน เพราะในการส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นการใช้สกุลเงินต่างประเทศในการชำระค่าสินค้า และส่วนมากก็จะเป็นสกุลเงินหลักๆ ที่เป็นที่ยอมรับกันในตลาดโลก เช่น ดอลล่าร์สหรัฐฯ มารค์เยอรมัน หรือเยน เมื่อส่งสินค้าออกไปแล้วก็จะทำให้ได้เงินตราต่างประเทศเข้ามา และเมื่อจะต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศก็จะทำให้มีเงินไปชำระค่าสินค้านั้นได้ และเงินตราต่างประเทศที่ได้ก็จะมีส่วนต่อปริมาณเงินสำรองของประเทศอีกด้วย

3. ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ในการส่งสินค้าออกนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะระดับราคาของสินค้าที่ส่งออกส่วนมากอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น จึงทำให้สินค้านั้นเข้าไปแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักของการได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) เมื่อประเทศใดสามารถผลิตสินค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าประเทศอื่นแล้ว ย่อมแสดงว่าทรัพยากรที่ถูกนำมาผลิตนั้นถูกนำมาใช้ได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือถ้าสินค้าที่ผลิตได้มีระดับราคาที่สูงกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ก็ควรนำเข้าสินค้านั้นมากกว่า แล้วนำทรัพยากรต่างๆ ที่ผลิตสินค้านั้นไปผลิตสินค้าอื่นที่สามารถผลิตได้โดยต้นทุนที่ต่ำกว่าแทน

4. ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้แก่ทรัพยากร

เป็นการพิจารณาในการนำวัตถุดิบต่างๆ มาแปรรูปก่อนส่งออก ซึ่งจะทำให้สินค้านั้นๆ มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น แทนที่จะส่งออกในรูปของผ้าผืน แต่เปลี่ยนมาเป็นการส่งออกเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปแทน ซึ่งมูลค่าของสินค้าย่อมสูงขึ้น อันจะทำให้ได้กำไรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

5. เป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตลง (Economy of Scale)

ถ้าเดิมผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียว ปริมาณการผลิตจึงไม่สูงมากนัก แต่ถ้ามีการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศด้วย ปริมาณการผลิตก็จะเพิ่มขึ้น จากกำลังผลิตเดิมที่มีอยู่ก็จะเพิ่มกำลังผลิตเพิ่มขึ้นให้เต็มกำลังผลิต หรืออาจเป็นการขยายกำลังผลิตขึ้น เหล่านี้ย่อมเป็นการช่วยลดต้นทุนต่อหน่วยให้ต่ำลง หรือเป็นการผลิต ณ จุดที่มีระดับต้นทุนต่ำสุด อันจะเป็นการช่วยให้ได้กำไรเพิ่มขึ้น
6. ช่วยสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

การขยายและกระจายการส่งออกจะช่วยปรับปรุงระดับเทคโนโลยีในการผลิต และการบริหาร เพราะในตลาดโลกย่อมมีภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นให้ผู้ส่งออกต้องปรับปรุงสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการผลิตตลอดจนการจัดการ อันจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับของเทคโนโลยีของประเทศอีกทางหนึ่ง

7. ช่วยลดการพึ่งพิงสินค้าจากต่างประเทศ

เป็นการพิจารณาในการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า (Import substitution) เพราะเดิมเราต้องนำเข้าสินค้าต่างๆ ที่ยังไม่สามารถผลิตได้ หรือผลิตได้แต่มีต้นทุนที่สูงกว่าการนำเข้า แต่เมื่อเราพยายามพัฒนาให้สามารถผลิตสินค้านั้นได้แล้วก็จะลดการนำเข้าลง ขณะเดียวกันนอกจากจะผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศแล้ว ก็มุ่งไปหาตลาดในต่างประเทศ (Export Oriented) เพื่อให้ได้ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น อันจะเป็นการช่วยต้นทุนต่อหน่วยให้ต่ำลง

ระบบในการขนส่งสินค้า(Logistics System)


Global Positioning System (GPS)
GPS ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการใช้งานยานพาหนะให้อยู่ในขอบเขตภารกิจที่กำหนด โดยใช้เทคโนโลยีกำหนดตำแหน่งบนพื้น โลกด้วยดาวเทียม ซึ่งให้ข้อมูลการเดินทางต่าง ๆ แสดงเส้นทางที่ใช้ ตำแหน่งที่จอดบนแผนที่ แสดงกราฟความเร็วของยานพาหนะ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนเสร็จสิ้นภารกิจ ผู้ใช้สามารถนำข้อมูลมาบริหาร วิเคราะห์ ตรวจสอบ หรืออ้างอิง สามารถนำเสนอข้อมูลได้หลายรูปแบบ เช่น แสดงบนแผนที่ดิจิตอล ในมาตราส่วนต่าง ๆ คือ 1:4,000 ใน กทม. และ 1: 50,000 ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย แสดงกราฟ หรือจัดพิมพ์รายงาน ข้อมูลต่าง ๆ ถูกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ PC หรือ Server สามารถค้นหาข้อมูลได้ตามต้องการ โดยสามารถจัดทำรายงานต่างๆเช่น


รายงานเดินรถประจำวัน (Excel) ,รายงานการใช้ความเร็วเกินกำหนด ,รายงานสะสมระยะทางรายเดือนของรถรายงานสะสมระยะทางรายเดือนของพนักงานขับรถ, รายงานสรุปใบงาน ,แสดงเส้นทางการเดินทางและจุดจอดบนแผนที่ ,กราฟความเร็ว (รูปแบบของ Tacho Graph)


ระบบจัดการคำสั่งซื้อ (Order Manage ment System : OMS)
จด กลุ่มคำสั่งซื้อตามลูกค้า และลำดับความสำคัญ แจกจ่ายสต็อกสินค้าตามแหล่งคลังสินค้า และสร้างวันกำหนดส่งตามสัญญา โดยปกติ OMS มักจะอยู่ภายใต้ระบบ ERP


ระบบจัดการการขนส่ง (Transportation Management System: TMS)
รับ คำสั่งซื้อจาก OMS ยืนยันวันกำหนดส่ง กำหนดตัวผู้ขนส่ง และสร้างตารางเวลาการรับสินค้าและจัดส่ง ก่อนที่จะส่งคำสั่งซื้อไปที่ระบบจัดการคลังสินค้า เมื่อคำสั่งซื้อถูกส่งต่อไปแล้ว ขั้นตอนถัดไปคือ การเตรียมความพร้อมสำหรับบรรจุหีบห่อ และจัดส่ง ระบบ TMS จะติดตามการจัดส่ง การชำระค่าเดินทาง และประสิทธิภาพของผู้ส่ง ซึ่งไม่ว่าคุณจะส่งทางรถบรรทุก เครื่องบิน หรือเรือก็ตาม ระบบ TMS จะสร้างเอกสารที่ประกบติดไปกับสินค้าจนถึงปลายทาง


โปรแกรมจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management System - WMS)
เป็น ระบบโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการบริหารระบบคลังสินค้าทั่วไป ที่รับสินค้า เก็บสินค้า และกระจายสินค้า ระบบโปรแกรมประกอบด้วย ระบบงานหลัก 3 ระบบ คือ การรับสินค้า (Receiving) การจัดเก็บสินค้า (Storage) และการส่งมอบสินค้า (Delivery)


การส่งมอบสินค้า เป็นการส่งสินค้าให้ลูกค้า ซึ่งเป็นข้อมูลมาจากการสั่งซื้อสินค้า (Purchase Order) หรือส่งมอบไปยังที่ใด ๆ เช่นย้ายไปเก็บยังคลังสินค้าอื่น ๆ เป็นต้น ข้อมูลการสั่งซื้อสามารถจัดทำในลักษณะของ E-Commerce โดยลูกค้าสามารถดู Catalogue และสั่งซื้อได้จากระบบ Internet อันจะทำให้เกิดความสะดวกและเป็นที่ประทับใจของลูกค้าเป็นอย่างมาก รวมทั้งสามารถตรวจสอบ Stock เตรียมการส่งมอบ และประหยัดเวลาการป้อนข้อมูล อย่างไรก็ตามระบบก็ยังสามารถตรวจสอบ Stock และป้อนข้อมูลได้จากศูนย์กลางด้วย


การรับมอบสินค้า เป็นการรับมอบสินค้าจากโรงงานผลิต รับฝากเก็บสินค้า หรือสั่งซื้อจากผู้ผลิต ซึ่งต้องได้รับการยืนยันรายการสินค้าที่นำมาเก็บยังคลังสินค้าก่อน เพื่อวางแผนในการจัดเก็บ เพราะลักษณะของสินค้าแต่ละชนิดแตกต่างกัน ในการรับข้อมูลรายการสินค้าอาจ Online ผ่านระบบ Internet มาจาก Supplier หรือป้อนข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์ที่ศูนย์กลาง ในการรับสินค้าที่มาถึงต้องมีระบบตรวจนับสินค้าครบถ้วน ขาด หรือเสียหาย รวมทั้งหากต้องการนำระบบ Barcode มาใช้ก็สามารถใช้ Barcode ที่มาพร้อมสินค้าหรือจัดทำระบบ Barcode ขึ้นเองก็ได้


ในการส่งมอบ สินค้าจะใช้ระบบ FIFO หรือ Expiry Date หรือกำหนดเองก็ได้ ระบบจะจัดพิมพ์ใบส่งมอบสินค้าหรือ Invoice ไปพร้อมกับสินค้าได้ตาม Format ที่ต้องการ หลังจากส่งมอบสินค้าแล้วพื้นที่ในคลังสินค้าอาจจะต้องจัดใหม่ (Relocation) เพื่อให้มีพื้นที่เก็บสินค้าที่เหมาะสมขึ้น ระบบจะมีการแสดงให้เห็นพื้นที่ว่างในรูปของ Graphic เพื่อง่ายในการปรับการเคลื่อนย้าย


นอกจากนี้ระบบโปรแกรมยังสามารถ เชื่อมโยงกับระบบงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้เช่น ระบบ E-Commerce ระบบบริหารการผลิต ระบบบัญชี หรือระบบบุคลากรได้ แต่ระบบดังกล่าวต้องเปิด Database เพื่อการ Access ข้อมูลให้ด้วยการจัดเก็บสินค้า เป็นการนำสินค้าที่รับมอบ มาจัดเก็บลงในตำแหน่งที่เหมาะสม อาจเป็น Pallet ที่วางอยู่บน Rack หรือสินค้าเป็นชิ้นที่วางอยู่บน Shelf หรือสินค้าที่กองอยู่ที่พื้น ในการใช้พื้นที่วางสินค้าต้องคำนึงถึงการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Space Utilization) สินค้าที่รับส่งบ่อย (Frequently Move) และสินค้าที่ต้องจัดเก็บเป็นพิเศษเพื่อให้การจัดเก็บสินค้าเป็นไปด้วยความ คล่องตัว สามารถใช้ระบบ Vehicle-Mounted Computer & Barcode Scanner ที่ติดตั้งอยู่บนรถ Forklift หรือ Hand-Held Computer & Barcode Scanner สำหรับพนักงานตรวจนับสินค้าได้ ระบบดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับ Server ด้วยสัญญาณไร้สาย (Wireless) อันจะทำให้ข้อมูลการนำเข้า จัดเก็บ เคลื่อนย้าย หรือส่งสินค้า ถูกแสดงและบันทึกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติ


เราจะเห็นการ อินทิเกรตกันระหว่าง OMS, TMS และ WMS เพื่อแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับคำสั่งซื้อ โดยเฉพาะในยุคของอีคอมเมิร์ซทำให้เกิดโซลูชันที่เชื่อมโยงหน้าร้านบนเว็บ เข้ากับระบบจัดการคำสั่งซื้อแบบเรียลไทม์ที่อินทิเกรตกับ TMS และ WMS ระบบยุคใหม่นี้ยังเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการจัดส่งรายย่อย (3PL) เพื่อให้ขีดความสามารถในการเข้าถึงสต็อกสินค้า สถานะสั่งซื้อ และข้อมูลการจัดส่งในยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นแบบเรียลไทม์ และมีความถูกต้อง ส่วนลูกค้าที่เป็นผู้สั่งซื้อ ก็จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องตามสัญญาเกี่ยวกับสต็อกสินค้าที่เขาต้องการสั่ง และวันที่จะได้รับสินค้านั้น

ด้วยขีดความสามารถในการมองเห็นได้ถึงกัน หมดในระบบหลักทั้งหมดในซัพพลายเชน ทำให้ธุรกิจไม่เพียงแต่รู้ว่ามีอะไรอยู่ในชั้นวางของในคลังสินค้าเท่านั้น แต่ยังรู้ว่ามีอะไรอยู่ที่ชั้นวางของของซัพพลายเออร์ของพวกเขาบ้าง รวมทั้งมีอะไรกำลังอยู่ในระหว่างเส้นทางไปสู่ลูกค้าด้วย.

ทำไมประเทศจึงมักขาดดุลการค้า?


ก่อนอื่นต้องอธิบายคำว่า"ดุลการค้า" ก่อน ซึ่งดุลการค้าคือการเปรียบเทียบระหว่างมูลค่าการนำเข้าสินค้ากับมูลค่าการส่งออก สินค้าของประเทศ ถ้านำเข้ามากกว่าส่งออกแสดงว่าขาดดุลการค้า แต่ถ้าส่งออกมากกว่านำเข้าแสดงว่าได้ดุลการค้า

ประเทศขาดดุลการค้าส่วนใหญ่ น่าจะมาจากบัญชีเดินสะพัดขาดดุล หรือเป็นลบ ทั้งนี้จากการที่ประเทศมีการนำเข้าสินค้า เช่น น้ำมัน เทคโนโลยี สินค้าที่มีมูลค้ามาก ๆ มากกว่าการการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าทางด้านเกษตรกรรม

ในช่วงนี้เราว่าผลกระทบจากราคาน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยขาด ดุลการค้า นอกจากเรื่องน้ำมันแล้วสาเหตุจากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่ามากกว่าการส่ง ออกสินค้าเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ประเทศขาดดุลการค้

เนื่อง จากประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสินค้าเกษตรเหล่านี้มักจะเป็นสินค้าที่มีราคาถูกและเป็นสินค้าที่ต้อง เก็บเกี่ยวตามฤดูกาล บางชนิดไม่ให้ผลผลิตตลอดปี แต่ประเทศไทยก็ยังมีการส่งออกสินค้าประเภทอิเลคทรอนิกส์อยู่ในอันดับต้นๆ เหมือนกันแต่ก็มีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเยอะเช่นเดียวกัน สำหรับประชากรภายในประเทศก็มักบริโภคสินค้าที่มาจากต่างประเทศมากกว่าสินค้า ภายในประเทศ จึงมีผลทำให้เงินทองไหลออกนอกประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ประเทศมักประสบกับปัญหาการขาดดุลการค้าเป็นประจำ


เรื่อง ที่ไทยขาดดุลทางด้านการค้านั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศไทยเราไม่มีความสามารถในด้านการผลิตน้ำมันทั้ง แบบสำเร็จรูปและแบบน้ำมันดิบได้เองจึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าจากกลุ่มประเทศ สมาชิกโอเปกในปีๆหนึ่งเป็นจำนวนมาก ถึงประเทศไทยจะพยายามขยายการส่งออกไปยังประเทศต่างๆได้มากขึ้นแต่ก็ไม่ สามารถเพิ่มขึ้นได้ทันกับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า เนื่องจากประชากรใช้น้ำมันอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ช่วยกันประหยัดทรัพยากรน้ำมันทั้งที่ตอนนี้ราคาก็แพงขึ้นมามาก แต่ก็ยังมีความต้องการใช้มากเช่นเดิม และนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังคงขาดดุลการค้า




การส่งออกในปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงมากไม่แปลกที่ในบางประเทศจะขาดดุลการ ค้าตลาดที่เปิดกันอย่างเสรีทำให้มีนักฉกฉวยหวังทำกำไรมากขึ้นถ้าประเทศยัง ไหวตัวไม่ทันกับสิ่งพวกนี้การลงทุน,นำเข้า และส่งออกคงจะขาดดุลไปตลอด


ในอดีตที่ผ่านมาหลายปี จะเห็นได้ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในภาวะขาดดุลมาตลอด เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากกว่าการส่งออก โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ประสบกับปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ดังนั้นราคาน้ามันในตลาดโลกที่สูงขึ้น จึงทำให้การนำเข้านั้นต้องเสืยค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งออกสินค้าของไทยยังต้องแข่งขันกับสินค้าของประเทศอื่นๆในตลาด โลก

สาเหตุหลักจากการนำเข้าน้ำมันจำนวนมาก แม้ว่ารัฐบาลพยายามรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดการใช้พลังงาน แต่มาตรการต่างๆ ของภาครัฐล้วนไม่ได้ผลอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งความพยายามในการดำเนินโครงการเมกะโปรเจ็ก รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการประหยัดการใช้พลังงานเชิงบังคับอย่าง และมีมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เพื่อแก้ปัญหาการนำเข้าน้ำมันจำนวนมาก และต้องระมัดระวังโครงการลงทุนของรัฐบาล โดยเฉพาะเมกะโปรเจ็กที่ต้องมีการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์จำนวนมาก ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเกินกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด ไว้

จีเอสพี (GSP)นั้นคืออะไร?


คอลัมน์ คลื่นความคิด สกล หาญสุทธิวารินทร์ มติชนรายวัน วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9804

ในช่วงนี้มีข่าวรัฐบาลไทยกำลังขอให้สหภาพยุโรปคืนสิทธิจีเอสพีให้แก่สินค้ากุ้งไทยที่ส่งไปสหภาพยุโรป คำถามที่ได้รับบ่อยๆ จากผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับวงการส่งออกคือ จีเอสพีนั้นคืออะไร จึงขอทำตัวเป็นผู้ใหญ่ลีตอบว่า จีเอสพีนั้นไซร้เป็นดังนี้

1.ความเป็นมาของโครงการจีเอสพี

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในการประชุมองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการค้าและพัฒนา (UNCTAD) สมัยที่ 1 ในปี พ.ศ.2507 จึงเกิดแนวความคิดเกี่ยวกับระบบจีเอสพีขึ้น โดยมีความมุ่งหมายที่จะยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ให้มีรายได้จากการค้า แทนการรับในรูปแบบของเงินช่วยเหลือ (AID) ด้วยการให้สินค้าส่งออกของประเทศกำลังพัฒนา สามารถแข่งขันกับสินค้าของประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ในการประชุม UNCTAD ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2511 ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ตกลงให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการส่งออกด้วยการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Generalized System of Preferences : GSP โดยการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าให้กับสินค้าที่ส่งมาจากประเทศที่กำลังพัฒนา

2.ประเทศที่ให้สิทธิจีเอสพี

ประเทศที่เข้าร่วมโครงการให้สิทธิจีเอสพี ณ ปัจจุบัน มี 8 ประเทศ และสหภาพยุโรป

3.ประเทศที่ได้รับสิทธิ

เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา โดยสหภาพยุโรปให้สิทธิจีเอสพีแก่ประเทศและดินแดนอาณานิคม ประมาณ 174 ประเทศ รวมทั้งประเทศที่แตกสลายจากสหภาพโซเวียตด้วย

สหรัฐ อเมริกาให้สิทธิจีเอสพีแก่ประเทศและดินแดนอาณานิคมประมาณ 145 ประเทศ โดยสหรัฐอเมริกาจะไม่ให้สิทธิแก่ประเทศที่ไม่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และประเทศที่เป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(OPEC)

ญี่ปุ่นให้สิทธิจีเอสพีแก่ประเทศประมาณ 155 ประเทศ

สำหรับประเทศไทยได้รับสิทธิจากทุกประเทศที่ให้สิทธิจีเอสพี

4.ประโยชน์ของการได้รับสิทธิจีเอสพี

สินค้าที่ได้รับสิทธิ เมื่อส่งไปประเทศที่ให้สิทธิ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า หรือได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้า คือเสียภาษีน้อยลงจากอัตราปกติ ทำให้ต้นทุนการนำเข้าถูกลง ผู้นำเข้าสามารถตั้งราคาขายให้ถูกลง จูงใจให้ผู้ซื้อซื้อมากขึ้น ผู้นำเข้าก็จะสั่งซื้อสินค้านั้นจากประเทศส่งออกต่อไปหรือซื้อมากขึ้น เปรียบเทียบให้เห็นได้จากหลายท่านที่ชอบไปช็อปปิ้งแถวหาดใหญ่ จังโหลน ปาดังเบซาร์ โดยเห็นว่าเป็นสินค้าที่มีราคาถูกกว่าที่อื่น เพราะไม่เสียภาษี

กรณีของสินค้ากุ้งไทยที่ส่งไปยังสหภาพยุโรปก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นกุ้งแช่เย็นแช่แข็งอัตราภาษีปกติ 12% แต่ถ้าได้รับสิทธิจีเอสพีจะเสียภาษีเพียง 4.2% ส่วนกุ้งปรุงแต่ง อัตราภาษีปกติ 20% อัตราภาษีที่ได้จีเอสพีเสียเพียง 7% จะเห็นได้ว่ามีผลต่อต้นทุนการนำเข้ากุ้งจากไทยมาก

5.การตัดหรือระงับสิทธิจีเอสพี

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่มีเงื่อนไขในการตัดสิทธิจีเอสพี และมีกลไกในการระงับสิทธิจีเอสพี เงื่อนไขการพิจารณาให้สิทธิจีเอสพีของสหรัฐอเมริกามีหลายประการที่สำคัญ ได้แก่

-การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายของสหรัฐอเมริกากำหนดให้ประเทศที่ได้รับสิทธิจีเอสพีของสหรัฐอเมริกา ต้องให้การปกป้องคุ้มครองในเรื่องลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าให้กับสินค้าของสหรัฐอเมริกาอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ

-ประเทศที่ได้รับสิทธิจีเอสพีต้องคุ้มครองสิทธิแรงงานภายในประเทศในระดับที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

-การให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านผู้ก่อการร้าย

หากประเทศใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวก็อาจถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิจีเอสพีได้

นอกจากเงื่อนไขการให้สิทธิจีเอสพีดังกล่าวแล้ว สหรัฐอเมริกายังได้วางกฎในการระงับสิทธิจีเอสพีไว้ด้วย กฎที่ว่าคือกฎว่าด้วยความจำเป็นในการแข่งขัน สรุปได้คือ หากสินค้ารายการใดจากประเทศใด ส่งไปสหรัฐอเมริกามีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าตั้งแต่ 50% ขึ้นไป หรือสินค้านั้นมีมูลค่าการนำเข้าสูงเกินระดับเพดานที่สหรัฐอเมริกากำหนดในแต่ละปี(เพิ่มขึ้นปีละ 5 ล้านเหรียญ) สินค้านั้นจะถูกระงับสิทธิในปีปฏิทินถัดไป

สินค้าที่ถูกระงับสิทธิไปแล้ว อาจได้สิทธิกลับคืนมาถ้าปรากฏว่ามูลค่าการนำเข้าในปีถัดไปต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หรือดำเนินการขอสิทธิคืน หลักเกณฑ์ที่สหรัฐอเมริกากำหนดไว้ การจะได้สิทธิคืนหรือไม่เป็นอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐเท่านั้น

ผู้ให้สิทธิจีเอสพีรายต่อมาที่มีการกำหนดเงื่อนไขในการให้สิทธิและการระงับสิทธิจีเอสพีคือสหภาพยุโรป โดยมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อครั้งต่ออายุโครงการที่ 3 ช่วงปี 2538 ถึงปี 2547 หลายประการที่สำคัญคือ จากเดิมที่มีการกำหนดการให้สิทธิตามเพดานหรือตามโควต้าก็เปลี่ยนเป็นการพิจารณาตามความอ่อนไหวของสินค้า ซึ่งมีหลักเกณฑ์วิธีการ ตลอดจนการคำนวณมูลค่าการนำเข้าค่อนข้างซับซ้อน

ผลจากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ทำให้สินค้าไทยถูกสหภาพยุโรประงับสิทธิจีเอสพีหลายรายการที่สำคัญ สินค้ากุ้งที่เป็นประเด็นอยู่ในปัจจุบัน

โครงการจีเอสพีของสหภาพยุโรปที่มีการต่ออายุไปอีกตั้งแต่ปี 2548 ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่า แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้บังคับ

6.จะรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงระบบสิทธิจีเอสพีอย่างไรดี

สิทธิจีเอสพีใช่ว่าจะมีแต่ประโยชน์ จีเอสพีก็มีโทษเช่นเดียวกัน โทษที่เห็นได้ชัดคือ ถ้าประเทศเราถูกตัดสิทธิจีเอสพี แต่ประเทศคู่แข่งที่ส่งออกสินค้าชนิดเดียวกันไม่ถูกตัดสิทธิ จะทำให้เราเสียเปรียบ ฉะนั้น ถ้าจะตัดสิทธิก็ให้ตัดสิทธิให้หมดทุกประเทศไปเลยก็จะไม่ว่ากัน

โครงการจีเอสพีมีอนาคตไม่แน่นอน ไม่แน่ว่าประเทศผู้ให้สิทธิจะยุติโครงการเมื่อใด หรือจะมีการกำหนดเงื่อนไข กฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมาระงับสิทธิ เป็นการบีบประเทศผู้ส่งออกเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมาเราก็ถูกบางประเทศใช้จีเอสพีบีบ

หากยังได้สิทธิจีเอสพีต่อไปก็คงต้องเตรียมรับสถานการณ์รับเงื่อนไขต่างๆ ที่อาจเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันคงต้องพูดแบบกำปั้นทุบดินว่า เราคงต้องเตรียมรับสถานการณ์ลดต้นทุนการส่งออกอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ชดเชยกับสิทธิจีเอสพีที่อาจถูกตัดไป และต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานของสินค้า เพราะจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะจูงใจให้ผู้นำเข้ายังคงซื้อสินค้าไทย ถึงแม้จะแพงกว่าสินค้าของประเทศคู่แข่งอยู่บ้าง ขณะเดียวกันสินค้ารายการใดที่ถูกตัดจีเอสพีเพราะส่วนแบ่งการตลาดสูง ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกที่ส่งสินค้านั้นออกไป ก็ให้ภูมิใจได้ว่ามีส่วนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงไม่ได้รับสิทธิจีเอสพี เพราะสิทธิจีเอสพีนั้นไซร้ มีไว้ให้กับเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนานั่นเอง

องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) คืออะไร?


องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) มีพัฒนาการมาจากแกตต์ (General Agreement on Tariff and Trade : GATT) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 โดยมีองค์กรสูงสุดในการตัดสินใจ คือ ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Conference) ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมทุก ๆ 2 ปี การประชุมครั้งแรกมีขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 9-13 ธันวาคม 2539 ครั้งที่2 มีขึ้น ณ นครเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2541 การประชุมครั้งที่ 3 มีขึ้น ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 และการประชุมครั้งที่ 4 จะมีขึ้น ณ เมืองโดฮา ประเทศการ์ตา ระหว่างวันที่ 9-13 พฤศจิกายน 2544 ปัจจุบัน WTO มีสมาชิกทั้งสิ้น 140 ประเทศ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO)


วัตถุประสงค์ของ WTO


- เป็นเวทีในการเจรจาลดอุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้า และมีกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้การค้ามีความเสรียิ่งขึ้น โดยอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เป็นธรรม
- สร้างความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการยุติข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ
- เป็นกลไกตรวจสอบและทบทวนนโยบายการค้าของประเทศสมาชิก

หลักการสำคัญของ WTO

- กำหนดให้ใช้มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศโดยไม่เลือกประติบัติ (Non-Discrimination) คือ ให้การปฏิบัติต่อสินค้าจากทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน (Most-favoured Nation Treatment : MFN) กล่าวคือ แต่ละประเทศจะต้องเรียกเก็บภาษีศุลกากร หรือค่าธรรมเนียม หรือใช้มาตรการใดๆ กับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศสมาชิกอื่นๆ เท่าเทียมกันทุกประเทศ และปฏิบัติต่อสินค้านำเข้าเท่าเทียมกับสินค้าภายในประเทศ (National Treatment) ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีภายใน หรือการกำหนดกฎระเบียบต่างๆ

- การกำหนดและบังคับใช้มาตรการทางการค้าจะต้องมีความโปร่งใส (transparency)โดยประเทศสมาชิกจะต้องพิมพ์เผยแพร่กฎระเบียบเกี่ยวกับมาตรการ ทางการค้าต่อสาธารณชน และแจ้งให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ทราบเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศ

- คุ้มครองผู้ผลิตภายในด้วยภาษีศุลกากรเท่านั้น (tariff-only protection) โดยหลักการแล้ว WTO ห้ามใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าทุก ชนิด ยกเว้นบางกรณีที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของ WTO

- มีสิทธิ์ใช้ข้อยกเว้นในกรณีฉุกเฉินและจำเป็น (necessary exceptions and emergency action)ประเทศสมาชิกสามารถใช้มาตรการคุ้มกันชั่วคราวในกรณีที่มีการนำเข้า มากผิดปกติ และสามารถจำกัดการนำเข้า เพื่อจุดประสงค์ในการแก้ไขการขาดดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือในกรณีที่เป็นข้อยกเว้นทั่วไป เช่น เพื่อรักษาสุขภาพของประชาชน สัตว์ และพืช เพื่อศีลธรรมอันดี และเพื่อความมั่นคงภายใน เป็นต้น

- ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม (fair competition) ประเทศสมาชิกสามารถเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุนสินค้านำเข้าได้ หากมีการไต่สวนตามกฎเกณฑ์ของ WTO แล้วพบว่า ประเทศผู้ส่งออกมีการทุ่มตลาด หรือให้การอุดหนุนจริง และก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้ประเทศสมาชิกอุดหนุนการผลิต และการส่งออกจนบิดเบือนกลไกตลาด

- ให้มีการรวมกลุ่มทางการค้าเพื่อลดภาษีระหว่างกันได้ หากมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายการค้า
(no trade blocs) ประเทศสมาชิกสามารถตกลงรวมกลุ่ม เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะขยายการค้าระหว่างกัน แต่มีเงื่อนไขว่าการรวมกลุ่มต้องไม่มีจุดประสงค์ เพื่อกีดกันการนำเข้าสินค้าจากประเทศนอกกลุ่ม และเมื่อรวมกลุ่มกันแล้วต้องไม่กระทบต่อผลประโยชน์เดิมของประเทศนอกกลุ่ม

- มีกระบวนการยุติข้อพิพาททางการค้า (trade dispute settlement mechanism) เมื่อมีกรณีข้อขัดแย้งทางการค้า ให้หารือเพื่อหาทางยุติข้อพิพาท หากไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ให้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติข้อพิพาทของ WTO โดยการยื่นเรื่องต่อองค์กรระงับข้อพิพาท (dispute settlement body: DSB) ของ WTO เพื่อจัดตั้งคณะลูกขุนขึ้นพิจารณากรณีดังกล่าว และรายงานผลให้ประเทศสมาชิกอื่นร่วมกันพิจารณา บังคับให้เป็นไปตามผลของคณะลูกขุน หากไม่ปฏิบัติตามคำตัดสิน ประเทศผู้เสียหายสามารถทำการตอบโต้ทางการค้าได้

- ให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการปฏิบัติตามพันธกรณี (special and differential treatment : S&D) ผ่อนผันให้ประเทศกำลังพัฒนาจำกัดการนำเข้าได้ หากมีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพดุลการชำระเงิน และให้โอกาสประเทศพัฒนาแล้วให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) แก่ประเทศกำลังพัฒนาได้ แม้จะขัดกับหลัก MFN ก็ตาม

ประเทศสมาชิก WTO

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม 2544) WTO มีประเทศสมาชิกทั้งสิน 140 ประเทศ มีประเทศที่อยู่ระหว่างกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกอีก 28 ประเทศ ที่สำคัญอาทิ จีน รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย ไต้หวัน เวียดนาม ลาว กัมพูชา เนปาล เป็นต้น