อาหารฮาลาล : ตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ

Monday 2 March 2009

ชาว มุสลิมกว่า 1,800 ล้านคนทั่วโลก มีความศรัทธาว่า ?ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ นบีมูฮำหมัดเป็นผู้สื่อ (รอซูล) ของอัลลอฮ? และมุสลิมมีความเชื่ออย่างมั่นใจว่าอัลลอฮคือผู้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่งใน จักรวาล ดังนั้น คำบัญชาของอัลลอฮ (อัล-กุรอ่าน) คำสอนและแบบอย่างของนบีมูฮำหมัด (ซุนนะห์) จึงเป็นเรื่องที่มุสลิมจะต้องปฏิบัติตามด้วยความจริงใจและจริงจัง กล่าวคือ ปฏิบัติในสิ่งที่อนุมัติ (ฮาลาล) และไม่ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นข้อห้าม (ฮารอม) ด้วยความเต็มใจและยินดี


อาหารฮาลาล จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมกว่า 1,800 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดึงดูดผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากทั่วทุกมุมโลกในการ ผลิตอาหารฮาลาลป้อนตลาดใหญ่ในตะวันออกกลางและตลาดอื่น ๆ ที่ชาวมุสลิมตั้งถิ่นฐานอยู่ แต่จะผลิตอย่างไรทำตลาดอย่างไรนั้น นับเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เนื่องจากคำว่า ?ฮาลาล? และ ?ฮารอม? ในอิสลามไม่ได้มีความหมายจำกัดเพียงแต่การบริโภคอาหารเท่านั้น หากแต่ครอบคลุมถึงวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์


อาหารฮาลาลในประเทศไทยที่มีคุณภาพได้มาตรฐานจะมีเครื่องหมายฮาลาลรับรองซึ่ง แต่เดิมสำนักจุฬาราชมนตรีเป็นผู้ให้เครื่องหมายรับรองดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ปัจจุบันการรับรองเครื่องหมายฮาลาลเป็นบทบาทของสถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาล ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย


ตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ
ทั่วโลกมีชาวมุสลิมกว่า 1,800 ล้านคน อาศัยในแถบตะวันออกกลางประมาณ 400 ล้านคน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 300 ล้านคน เอเชียใต้ 400 ล้านคน เอเชียเหนือ 100 ล้านคน แอฟริกา 200 ล้านคน อเมริกาเหนือ 10 ล้านคน ยุโรป 40 ล้านคน และส่วนอื่น ๆ อีกประมาณ 150 ล้านคน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และมีความต้องการอาหารฮาลาลคิดเป็นมูลค่าถึง 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นจำนวนเงินมหาศาล แต่ประเทศไทยส่งออกอาหารฮาลาลเพียงปีละ 0.1% ของมูลค่าทั้งหมด หรือประมาณ 6 พันล้านบาทเท่านั้น หากเราสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกอาหารฮาลาลเพียงแค่ 5% เราจะมีรายได้เข้าประเทศถึงกว่า 3 แสนล้านบาท


ถามว่าเรามีช่องทางในการส่งออกหรือไม่ เราต้องทราบจุดแข็งและจุดอ่อนของเราก่อน เรามีจุดแข็งเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารที่มีความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรและ เทคโนโลยี รัฐบาลยังได้ประกาศนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งเชื่อมโยงกับนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นครัวของโลก


เรามีจุดอ่อนเช่นกัน ที่สำคัญก็คือเราไม่ใช่ประเทศมุสลิม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของผู้บริโภคอย่างมาก ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศมุสลิมมีการส่งออกอาหารฮาลาล คิดเป็น 6% ของปริมาณทั้งหมด ส่วนอินโดนีเซียส่งออกถึง 9% แต่หากมาพิจารณาจริง ๆ แล้ว ประเทศไทยมีผู้นับถือศาสนาอิสลามถึง 4 ? 5 ล้านคน ซึ่งเทียบเท่าหรือมากกว่าชาวมุสลิมในกลุ่มประเทศแถบอ่าวในตะวันออกกลาง เช่น โอมาน บาห์เรน กาตาร์ คูเวต เสียอีก เรามีมัสยิดกว่า 3,400 แห่งทั่วประเทศ ทั้งยังมีระบบการบริหารจัดการศาสนาอิสลาม โดยมีพระราชบัญญัติกำหนดไว้ชัดเจน สิ่งเหล่านี้ทำให้เราสามารถแปลงจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งได้ โดยการสร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถือในมาตรฐานอาหารฮาลาลของไทยได้
ด้านการตลาด แต่ก่อนเรายังไม่จริงจังกับการส่งออกอาหารฮาลาลเท่าไรนัก โดยผู้ผลิตมองว่าการผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับชาวมุสลิมในประเทศนั้นเป็นกาตลาด ที่เล็กมาก ในขณะที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา มองเห็นตลาดโลกมุสลิมตรงนี้และบุกทำตลาดอย่างเต็มที่


ประเทศมาเลเซียทำตลาดพุ่งตรงไปหาฐานลูกค้าเลย โดยท่านมหาธีร์มูฮำหมัดในสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำทีมนำนักธุรกิจ มุสลิมในมาเลเซียไปบุกตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าได้มาก สำหรับของไทยเรามีอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งท่านเป็นผู้กว้างขวางเป็นมนตรีสันนิบาตโลกมุสลิมนำทีมผู้ประกอบการจัดโร ดโชว์ ในตะวันออกกลาง แอฟริกา รัสเซีย อุซเบกิสถาน เป็นต้น เพื่อส่งเสริมและสร้างความน่าเชื่อถือในมาตรฐานอาหารฮาลาลของไทยให้เป็นที่ ยอมรับมากขึ้น


กิจกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมามีเป้าหมายหลักเพื่อสนับสนุนการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยที่มี มาตรฐานไปยังตลาดทั่วโลก และนับว่าได้ผลในระดับหนึ่ง เนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกอบการไทยหันมาให้ความสนใจตลาดอาหารฮาลาลมากขึ้น

0 comments:

Post a Comment